“แมมมอธ” คือหนึ่งนีสิ่งมีชีวิตดึกดำบรรพ์ที่นักวิทยาศาสตร์กำลังพยายามฟื้นคืนชีพพวกมันกลับมาบนโลกยุคปัจจุบัน จากขนและเนื้อเยื่อที่ถูกแช่แข็งอยู่ในอาร์กติก ซึ่งชิ้นส่วนเหล่านี้มีร่องรอยพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอ (DNA) ของพวกมันอยู่

แต่ในขณะที่การคืนชีพยังไม่สำเร็จ นักวิทยาศาสตร์อีกกลุ่มหนึ่งก็ได้นำดีเอ็นเอของแมมมอธมาใช้ในการพัฒนา “อาหาร” ในลักษณะของลูกชิ้นยักษ์หน้าตาแสนอร่อย หรือหากจะพูดง่าย ๆ ว่าเป็น “ลูกชิ้นแมมมอธ” ก็อาจจะพอได้

Vow บริษัทสตาร์ทอัปด้านการเพาะเลี้ยงเนื้อ (Cultured Meat) ในออสเตรเลีย ได้ทำการสร้างมีตบอลหรือลูกชิ้นยักษ์ ซึ่งมีส่วนผสมของดีเอ็นเอแมมมอธขึ้นมา

อย่างไรก็ดี ลูกชิ้นแมมมอธนี้ไม่ได้ถูกสร้างมาเพื่อการบริโภค แต่เพียงเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของความก้าวหน้าของวิทยาการเพาะเลี้ยงเนื้อสัตว์ในห้องทดลอง ซึ่งจะเป็นหนึ่งในอนาคตด้านอาหารของมนุษยชาติ รวมถึงรณรงค์การบริโภคที่เป็นมิตรกับโลก

เจมส์ ไรออล หัวหน้าเจ้าหน้าที่วิทยาศาสตร์ของ Vow กล่าวว่า “เราต้องเริ่มคิดใหม่ว่าเราจะหาอาหารได้อย่างไร ความหวังที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของผมสำหรับโครงการนี้คือ ผู้คนจำนวนมากขึ้นทั่วโลกเริ่มได้ยินเกี่ยวกับเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยง”

ลูกชิ้นแมมมอธนี้จะถูกนำไปจัดแสดงที่ Rijksmuseum Boerhaave ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์และการแพทย์ในเนเธอร์แลนด์

ทั้งนี้ แม้จะบอกว่านี่เป็นลูกชิ้นแมมมอธ แต่ความจริงแล้วมันไม่ใช่การสร้าง “เนื้อแมมมอธ” ขึ้นมาเสียทีเดียว แต่เป็นเนื้อแกะที่พัฒนาจากแล็บซึ่งมีดีเอ็นเอของแมมมอธเป็นส่วนประกอบหนึ่งเท่านั้น

นักวิทยาศาสตร์ที่ทำงานในโครงการนี้ระบุว่า พวกเขาไม่สามารถเข้าถึงเนื้อเยื่อแมมมอธที่ถูกแช่แข็งไว้ในอาร์กติกมาเป็นฐานในการพัฒนาลูกชิ้นแมมมอธได้โดยตรง แต่ใช้โปรตีนชนิดหนึ่งที่มีอยู่ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม คือ “ไมโอโกลบิน” (Myoglobin) ซึ่งจะให้เนื้อสัมผัส สี และรสชาติของเนื้อสัตว์ได้ โดยระบุลำดับพันธุกรรมของแมมมอธในฐานข้อมูลจีโนมที่เปิดเผยต่อสาธารณชน

พวกเขาเติมเต็มช่องว่างในลำดับดีเอ็นเอของไมโอโกลบินในแมมมอธโดยใช้ข้อมูลจากจีโนมของช้างแอฟริกา นักวิทยาศาสตร์ได้ใส่ยีนที่สังเคราะห์ขึ้นนี้เข้าไปในเซลล์กล้ามเนื้อแกะ ซึ่งต่อมาเพาะเลี้ยงให้เติบโตเป้นเนื้อในห้องปฏิบัติการ จนในที่สุด ทีมวิจัยก็สามารถผลิตเนื้อแมมมอธได้ประมาณ 400 กรัม

เอิร์สต์ วูล์ฟทัง ศาสตราจารย์และหัวหน้าอาวุโสของสถาบันวิศวกรรมชีวภาพและนาโนเทคโนโลยีออสเตรเลีย มหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ กล่าวว่า “จากมุมมองของจีโนมแล้ว มันเป็นยีนแมมมอธเพียงยีนเดียวในบรรดายีนอื่น ๆ ที่เป็นแกะ … มันเป็นยีนแมมมอธแค่ 1 ใน 25,000 ยีนเท่านั้น”

ไรออลกล่าวว่า ไมโอโกลบินได้เปลี่ยนลักษณะทางกายภาพของเซลล์กล้ามเนื้อแกะ ทั้งนี้ ไรออลและวูล์ฟทังต่างบอกว่า พวกเขาไม่ได้ชิมลูกชิ้นแมมมอธที่สร้างขึ้นมาได้นี้

“โดยปกติแล้ว เราจะชิมผลิตภัณฑ์ของเราและเล่นกับพวกมัน แต่เราลังเลที่จะลองชิมสิ่งนี้ เพราะเรากำลังพูดถึงโปรตีนที่ไม่มีอยู่บนโลกมานานถึง 5,000 ปี ผมไม่รู้ว่าโปรตีนโบราณนี้จะทำให้เกิดอาการแพ้อะไรหรือไม่” ไรออลกล่าว

เขาเสริมว่า “นั่นเป็นหนึ่งในเหตุผลที่เราไม่นำเสนอสิ่งนี้เป็นผลิตภัณฑ์สำหรับบริโภค มันจะไม่ถูกนำมาวางขาย เพราะเราไม่มีรู้เกี่ยวกับความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์นี้”

เรียบเรียงจาก CNNคำพูดจาก เกมสล็อตเว็บแท้

ภาพจาก Vow / AFP